ผลการวิจัยชี้ 73 เปอร์เซ็นต์ของนักดนตรีอิสระมีปัญหาด้านสุขภาพจิตมาก่อน ในขณะที่มีนักดนตรีเพียง 19 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นรู้สึกว่าวงการดนตรีนั้นมีสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสภาพจิตใจ

Record Union บริษัทจัดจำหน่ายดนตรีดิจิตัลของสวีเดนเป็นผู้เผยแพร่สถิตินี้ โดยได้จัดทำผลสำรวจจากการเซอร์เวย์จากนักดนตรีเกือบ 1,500 คนในช่วงวันที่ 21 มีนาคมถึง 2 เมษายนที่ผ่านมา
ผลการสำรวจพบว่านักดนตรีอิสระจำนวน 3 ใน 4 เคยประสบกับอาการของโรคเครียด วิตกกังวล และซึมเศร้ามาก่อนจากการทำงานสายนี้ โดยเป็นเยอะมากในนักดนตรีที่อายุยังน้อย ระหว่าง 18-25 ปี และจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่ามีประสบการณ์ด้านลบที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจที่หยั่งรากลงไปถึงอาชีพสายดนตรีของพวกเขา
“การวิจัยครั้งนี้เป็นเครื่องชี้ว่ามันควรมีการเปลี่ยนแปลง” นาย Johan Svanberg CEO ของ Record Union ให้สัมภาษณ์กับ Billboard “ถึงเวลาแล้วที่เราควรดูแลสุขภาพทางจิตใจของศิลปิน ก่อนความสำเร็จทางธุรกิจและการสตรีม เราทุกคนในอุตสาหกรรมดนตรีควรตื่นขึ้นและถามตัวเองว่า อะไรคือความรับผิดชอบของเราในเรื่องนี้ และเราสามารถช่วยทำอะไรได้บ้างที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพจิตที่ดีในวงการดนตรี”
นอกจากนี้ผลการสำรวจยังชี้ว่า 33 เปอร์เซ็นต์ของนักดนตรีกว่า 1,000 คนได้ประสบภาวะแพนิคกำเริบ (panic attack) 57 เปอร์เซ็นต์บอกว่ามีความวิตกกังวลต่อสภาพจิตใจและความเป็นอยู่ของตัวเอง (ร้อยละ 41 บอกว่ารู้สึกกังวลหลายครั้งต่อวัน) อย่างไรก็ตาม นักดนตรีจำนวน 39 เปอร์เซ็นต์ (33 เปอร์เซ็นต์ของนักดนตรีอายุระหว่าง 18-25 ปี) บอกว่าพวกเขากำลังมองหาวิธีการรักษา โดย 51 เปอร์เซ็นต์ใช้วิธีหายารักษาตนเอง
หลังจากได้รู้ผลว่ามีนักดนตรีที่เผชิญสภาวะนี้อยู่ถึง 73 เปอร์เซ็นต์ ทาง Record Union ได้แสดงเจตนารมณ์ในการช่วยแก้ปัญหา โดยการบริจาคเงินจำนวน 30,000 ดอลล่าร์ให้แก่โครงการต่างๆ ที่ช่วยดูแลนักดนตรีที่ประสบปัญหาทางสุขภาพจิต และเชิญชวนให้คนทั่วไปที่อยากสร้างโปรเจคต์เหล่านี้ ส่งไอเดียเข้าไปได้ที่ ลิงค์นี้ ระหว่างวันที่ 7 พ.ค. ถึง 2 มิ.ย. โครงการที่ได้รับเลือกจะถูกตีพิมพ์ที่เวบไซต์ก่อนวันที่ 16 มิ.ย. ผู้ที่ได้เข้ารอบ Top 10 จะได้พบกับผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยตัดสินเลือก 3 โปรเจคต์สุดท้ายที่จะมีโอกาสแบ่งรางวัลกัน
ที่มา Loudwire
