Article

ผลวิเคราะห์ชี้ การฟังดนตรีเดธเมทัลไม่ทำให้ผู้ฟังก้าวร้าว แต่กลับช่วยให้แฮปปี้

“ชาวเดธเมทัลเป็นคนน่ารักนะ” โปรเฟสเซอร์ Bill Thompson จาก Macquarie University ในออสเตรเลียกล่าวเพื่ออธิบายข้อสรุปว่าดนตรีเดธเมทัลสุดโต่งนั้นไม่ได้ทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์โหดหรือรุนแรง หากแต่ทำให้พวกเขารู้สึกรื่นเริงเบิกบานด้วยซ้ำ Thompson กล่าวเพิ่มอีกว่า

“ไม่ใช่ว่าพวกเขาฟังเพลงเดธเมทัลแล้วจะออกไปทำร้ายคนเสียหน่อย”

BBC รายงานผลการวิเคราะห์จาก Music Lab ที่มหาวิทยาลัย Macquarie ซึ่งเป็นที่ที่อาจารย์ผู้นี้พร้อมกับเพื่อนร่วมทีมอีกหลายคนได้ทำการศึกษาข้อมูลมาร่วมทศวรรษเกี่ยวกับผลกระทบของดนตรีที่มีต่ออารมณ์ความรู้สึก

ผลลัพธ์ที่ได้ชี้ว่าแฟนๆ ดนตรีเดธเมทัลไม่ได้รู้สึกเฉื่อยชากับความรุนแรงเหมือนอย่างที่หลายๆ คนอาจคาดไว้ โดยโปรเฟสเซอร์ Thompson เปรียบเทียบความรู้สึกเพลิดเพลินและเป็นสุขจากการฟังเพลงโหดรุนแรงของแฟนเดธเมทัลกับความพึงพอใจที่ผู้ฟังดนตรีทั่วไปมีต่อเพลงเศร้าหรือหดหู่

“มีหลายคนที่รู้สึกเอ็นจอยเพลงเศร้าๆ ซึ่งมันก็ค่อนข้างจะมีนัยที่ขัดแย้งกันอยู่” เขาบอก

“ใครจะมาอยากทำให้ตัวเองเศร้า? มันก็เหมือนกันกับเพลงที่มีเนื้อหารุนแรงหรือดุดันนั่นแหละ สำหรับเราแล้วมันมีความขัดแย้งอยู่ในตัว เราจึงได้สงสัยและอยากศึกษามันในขณะเดียวกันเราก็ตระหนักดีว่าความรุนแรงจากสื่อเป็นปัญหาที่มีความสำคัญมากเช่นกัน”

แล้วอาจารย์ Thompson และทีมของเขารู้ได้ยังไงว่าเดธเมทัลนำความสุขมาสู่ผู้ฟัง หาใช่ความรุนแรงไม่?

พวกเขาได้เชิญแฟนเพลงเดธเมทัล 32 คน และคนที่ไม่ชอบเมทัล 48 คนมาฟังดนตรีเดธเมทัลหรือดนตรีป๊อปในขณะที่นั่งดูภาพความโหดร้ายไปพร้อมๆ กับที่ดนตรีกำลังเล่นอยู่

โดยเพลงที่ฟังก็มีเพลงเช่น “Eaten” ซึ่งเป็นเพลงธีมโหดกินคนของวง Bloodbath หรือต่างขั้วอย่างเพลง “Happy” ของ Pharrell Williams และผู้เข้าร่วมการวิจัยก็จะได้ดูภาพสำหรับตาแต่ละข้างไปด้วย ภาพหนึ่งเป็นภาพของความรุนแรงและอีกภาพเป็นภาพธรรมดาที่ไม่โหดร้าย ในขณะที่ทีมนักวิจัยก็จะศึกษาปฏิกิริยาของพวกเขา

ภาพจาก
Director: Bill Thompson
Music, Sound and Performance Lab

“มันเรียกว่า ‘การแข่งขันระหว่างสองตา’ หรือ ‘binocular rivalry'” Dr. Yanan Sun อธิบายให้ฟัง โดยการทดสอบนี้ได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อถูกนำเสนอภาพสองภาพที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง ผู้ชมจะมองเห็นภาพความรุนแรงมากกว่าอีกภาพที่ไม่รุนแรง

แฟนเพลงเดธเมทัลเองก็มองเห็นภาพความรุนแรงเช่นเดียวกันกับผู้ฟังดนตรีทั่วไป

“กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้เคร่งศาสนา และกรรมการเซ็นเซอร์มักจะกังวลว่าเพลงที่มีเนื้อหารุนแรงจะทำให้แฟนเดธเมทัลเกิดความชินชากับความรุนแรง ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง พวกเขาคงไม่เลือกเห็นภาพในแบบเดียวกันหรอก แฟนเดธเมทัลเลือกที่จะมองเห็นภาพที่มีความโหดร้ายเช่นเดียวกันกับคนที่ไม่ใช่แฟนเพลงเมทัลเลย”

อาจารย์ Thompson บอกว่าข่าวนี้น่าจะช่วยแนะพ่อแม่และผู้เคร่งศาสนาว่าการที่เด็กๆ เลือกฟังเพลงเมทัลไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีโอกาสกลายเป็นคนหัวรุนแรง การฟังเพลงประเภทอื่นก็มีโอกาสทำให้เด็กเป็นคนก้าวร้าวได้เหมือนกัน

Bloodbath

ส่วนวง Bloodbath ได้ออกมาแสดงความรู้สึกที่เพลงของตัวเองได้ถูกนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ว่า “เราไม่มีปัญหานะ” Nick Holmes นักร้องนำบอกกับ BBC News “เนื้อเพลงของเรานั้นสนุกและไม่มีพิษภัย เหมือนอย่างที่การวิจัยได้พิสูจน์ออกมาแล้ว แฟนๆ เพลงเมทัลส่วนใหญ่เป็นคนฉลาดและจิตใจดีที่บังเอิญมีแพชชั่นให้กับดนตรีแนวนี้ เหมือนกันกับที่คนชอบดูหนังสยองขวัญที่แต่งขึ้นหรือที่สร้างจากเรื่องจริงแหละ”

ที่มา Loudwire

Click to comment

Leave a Reply

Most Popular

To Top
%d bloggers like this: