Music News

1 ปีที่ผ่านพ้น เราเรียนรู้อะไรจากการจากไปของ Chester Bennington

วันที่ 20 กรกฎาคม 2017 Chester Bennington ฟร้อนต์แมนของ Linkin Park วงร็อคที่ดีที่สุดวงหนึ่งของยุค 2000 ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง ณ บ้านพักของตน หลังจากที่ต่อสู้กับโรคซึมเศร้าและความทุกข์ทรมานในจิตใจมาหลายปี เขามีอายุเพียง 41 ปี

37370037_1059410170874310_1864106881245511680_o

20 กรกฎาคม 2018 ครบรอบ 1 ปี การจากไปของเบนนิงตั้นหลายๆ คนอาจจะยังสลัดความรู้สึกช็อค ความรู้สึกสะเทือนออกไปยังไม่ได้ด้วยซ้ำ ผู้เขียนเองจำได้ว่าตอนที่เห็นข่าวทางหน้าฟีดทางเฟสบุ๊ค รู้สึกตกใจมากจนต้องนั่งสงบสติอารมณ์อยู่พักใหญ่ เชื่อว่าผู้เขียนไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึก “numb” ได้ขนาดนั้น หลายๆ คนก็คงอยากให้มันเป็นหนึ่งในข่าวปลอมที่ชาวเน็ตชอบสร้างขึ้นมาหลอกกัน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายๆ คนเปิดใจและเริ่มตระหนักถึงความทุกข์ทรมานของผู้ที่ต้องเผชิญกับปัญหาโรคซึมเศร้า

คงไม่มีใครเจ็บปวดเกินไปกว่า Talinda Bennington ภรรยาของเชสเตอร์ ที่เธอเองได้สะท้อนความรู้สึกเศร้าเสียใจออกมาในรูปแบบการสื่อสารและช่วยเหลือสังคม โดยเธอได้เดินสายรณรงค์และให้สัมภาษณ์ให้ความรู้กับผู้อื่นในเรื่องปัญหาโรคซึมเศร้า แบ่งปันบทเรียนจากประสบการณ์ของเธอเพื่อให้ผู้อื่นสามารถแก้ไขและช่วยเหลือคนรอบข้างได้ก่อนที่จะสายเกินแก้ เธอเริ่มแคมเปญทางโซเชี่ยลมีเดีย โดยใช้แฮชแท้ก #fuckdepression และ #makechesterproud

talindanadanderson

ทาลินดาได้แชร์คลิปวิดิโอนี้ทางทวิตเตอร์ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นและเข้าใจว่า โรคซึมเศร้านั้น ไม่ได้ตีตราประทับให้ทุกคนเห็น อาจเป็นภัยเงียบที่ซ่อนอยู่ภายใต้ใบหน้าที่เปื้อนรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เธออธิบายว่า เธอถ่ายคลิปนี้ 36 ชั่วโมงก่อนเชสเตอร์ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง

“โรคซึมเศร้าหน้าตาเป็นแบบนี้ 36 ชั่วโมงก่อนเขาจากไป เขารักพวกเรามากเหลือเกิน และเราก็รักเขาจริงๆ #fuckdepression #makechesterproud”

เธอบอกเป็นนัยๆ ว่า อย่าคิดไปเองว่าทุกอย่างโอเค โปรดถามไถ่และใส่ใจคนที่คุณรัก

นอกจากนั้น การจากไปอย่างช็อคโลกของเชสเตอร์ เป็นผลการเดินทางสายดนตรีของวง Linkin Park ต้องชะงักงันลงไป ถึงแม้ว่าพวกเขาจะกลับมารวมตัวกันแสดงคอนเสิร์ตในงานรำลึกถึงสมาชิกผู้ล่วงลับไปหนึ่งครั้ง แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่า Linkin Park จะดำเนินต่อไปในฐานะวงดนตรีอีกได้อย่างไร

ในขณะเดียวกัน Mike Shinoda หนึ่งในสมาชิก Linkin Park ได้ปล่อย EP และอัลบั้มเต็มออกมาในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ชื่อว่า Post Traumatic ถือเป็นผลงานโซโล่แรกของเขา และเป็นผลงานดนตรีชิ้นแรกตั้งแต่เชสเตอร์จากไป โดยเป็นดนตรีแนวร็อค / ฮิปฮอป เนื้อหาสะท้อนความรู้สึกและเรื่องราวการสูญเสียคนที่เรารัก คงไม่ต้องเดาว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากใคร

แฟนๆ ของเชสเตอร์คงรู้กันดีอยู่แล้วว่า เขาเองไม่ปิดบังว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้าและต่อสู้กับโรคนี้มานาน ยิ่งไปกว่านั้น เขาออกมาพูดให้ความรู้เรื่องนี้ตามสื่อต่างๆ ตลอดเวลา เพื่อให้ทุกคนที่กำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่รู้ว่า พวกเขาไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง มีคนที่รู้สึกเหมือนกันมากมาย และช่วยเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นมันไปให้ได้

เป็นเรื่องที่น่าเศร้าแต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่เชสเตอร์ฝากทิ้งไว้ให้พวกเราจดจำ นอกจากจะเป็นงานเพลงและความจริงใจของเขาแล้ว การจากไปของเขานั้นยังเป็นตัวช่วยเปิดใจให้คนที่มองข้ามปัญหานี้หรือเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กและไกลตัว กลับมาหยุดฟังและให้ความสำคัญของเรื่องนี้มากขึ้น มีการพูดคุยและรณรงค์เรื่องการป้องกันการฆ่าตัวตายมากขึ้น มีบทสนทนาให้ถกเถียงอภิปรายมากมาย หลายๆ คนอาจกำลังพยายามทำความเข้าใจ หรือหาคำตอบ แต่บทเรียนที่สำคัญที่สุดก็คือ การฆ่าตัวตาย ไม่ใช่คำตอบ

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ขอให้รู้ไว้ It’s okay to not be okay – มันไม่เป็นไรหรอก หากคุณรู้สึกไม่โอเค มีคนที่พร้อมจะเข้าใจคุณเสมอ คุณไม่ต้องสู้กับมันเพียงลำพัง ขอให้คุณเล่าให้ใครสักคนฟัง เรารู้ว่าคุณจะผ่านมันไปได้

RIP Chester. We miss you.

 

 

 

Click to comment

Leave a Reply

Most Popular

To Top
%d bloggers like this: